หลวงปู่สุ่น สุนทโร วัดบางปลาหมอ

แชร์บทความ

หลวงพ่อสุ่น พระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระผู้เป็นพระอาจารย์สองพระเกจิชื่อดังคือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ทั้งสองพระเกจิอาจารย์จัดว่าเป็นสุดยอดพระอาจารย์ดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อสุ่นถึงแม้ชื่อเสียงท่านจะไม่โด่งดังเท่ากับศิษย์รักทั้ง 2 รูปที่กล่าวมานั้น แต่ในตัวหลวงพ่อเองจัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่สำเร็จกรรมฐาน เป็นพระหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ชาวอำเภอเสนา อำเภอบางบาล บางไทร และใกล้เคียงต่างก็เคารพรักศรัทธาในตัวท่านมาก

ประวัติหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอนั้น แทบจะหารายละเอียดไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะว่าสมัยท่านไม่มีใครบันทึกเรื่องราวเอาไว้ และผู้ที่พอจะรู้เรื่องของหลวงพ่อบ้างต่างก็เสียชีวิตกันหมดแล้ว เรื่องราวของพระอาจารย์ดังที่เก่งในด้านวิชาอาคมต่างๆ ไม่มีการเล่าขานให้กระจ่างชัดเท่าที่ควร

หลวงพ่อสุ่น เป็นสมภารปกครองวัดบางปลาหมออยู่นานพอสมควร อันว่าวัดบางปลาหมอนั้น ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยทางด้านทิศเหนือ อยู่ในท้องที่หมู่ 6 ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางบาลประมาณ 15 กิโลเมตร ใกล้กับค่ายสีกุกหรือวัดสีกุก ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยที่กรุงศรีอยุธยายังทำศึกกับพม่า พระเจ้าหงสาวดีได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งยกเข้ามาตั้งค่ายที่สีกุก เพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้แล้วเข้าโจมตีภายหลัง

เขตวัดบางปลาหมอขึ้นอยู่กับอำเภอบางบาล เป็นเขตแดนติดต่อกับตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบางปลาหมอในอดีตเคยเป็นวัดที่รุ่งเรืองมาก่อน เพราะหลวงพ่อสุ่นท่านเป็นพระแก่กล้าทางวิทยาคมกอปรด้วยความเมตตา ท่านยังเป็นพระหมอช่วยผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยให้พ้นทุกข์เวทนา อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาทำนุบำรุงเสนาสนะหมู่กุฏิสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรืองทางถาวรวัตถุอีกด้วย เหตุนี้จึงมีผู้ให้ความเคารพนับถือท่านมาก นัยว่ามีเจ้านายจากกรุงเทพฯ เคยมาพักที่วัดให้ท่านรักษาโรคด้วย

วัดบางปลาหมอสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนที่ได้ชื่อว่า “วัดบางปลาหมอ” นั้น สมัยก่อนมักนิยมเรียกขานชื่อหมู่บ้านตามภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมละแวกนั้น ที่หมู่บ้านบางปลาหมอเป็นพื้นที่ลาดลุ่มน้ำท่วมถึง เข้าใจว่าคงจะมีปลาหมอมากกว่าปลาชนิดอื่นๆ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสภาพแวดล้อมตามที่เป็นอยู่ว่า “บ้านบางปลาหมอ”

หลวงพ่อสุ่นนั้นไม่ทราบว่าท่านมาจากไหน เพราะไม่มีหลักฐานหรือคำบอกเล่าปรากฏ และจากการลำดับเจ้าอาวาสของวัดก็มีหลวงพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก แต่ก่อนหน้านี้จะมีเจ้าอาวาสก่อนหลวงพ่อสุ่นอีกหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ลำดับเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อสุ่นก็มีหลวงพ่อจ้อย, เจ้าอธิการเชื้อ, พระอธิการณรงค์, พระครูสิริพัฒนกิจ จากวัดโคกเสือ มารักษาการเจ้าอาวาสอยู่พักหนึ่ง สมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์สงุ่น ต่อมาก็เป็นพระอธิการอู๋, พระครูโกวิทวิหารการ (ประยุทธ ชินวัฒน์) เป็นเจ้าอาวาส

บั้นปลายชีวิต

วัดบางปลาหมอสมัยนั้นรุ่งเรืองมีผู้คนเข้าออกวัดแต่ละวันเป็นจำนวนมาก  มีทั้งไปปฏิบัติธรรมและไปรักษาไข้ หลวงพ่อสุ่นท่านละสังขารเมื่อปี พ.ศ. อะไรไม่ปรากฏแน่ชัด นับว่าเป็นการสูญเสียพระอาจารย์รูปสำคัญของชาวบ้านย่านบางปลาหมอเลยทีเดียว การมรณภาพของท่านมีผู้สันนิษฐานไว้ว่า ปีมรณภาพของหลวงพ่อสุ่นนั้น ก็น่าจะประมาณปลายปี 2450 ถึงกลางปี 2451 เพราะมรณะก่อนที่หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี จะมรณภาพไม่นาน (ตามหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ท่านบอกกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าพ่อตายแล้ว ให้ไปหาท่านเนียมนะ ท่านก็เก่งเหมือนกัน” แล้วหลวงพ่อปานก็ได้เรียนวิชาอยู่กับหลวงพ่อเนียมได้อีกไม่นาน หรือประมาณ 3 เดือน แล้วหลวงพ่อเนียมก็มรณภาพลง)

หลวงพ่อสุ่น ท่านละสังขารในท่าเข้านอนสีหไสยาสน์ ระงับเวทนาและท่านก็เข้านิโรธออกไปเลย ซึ่งท่าละสังขารของหลวงพ่อสุ่นไม่ใช่เป็นการจัดการศพหลังจากท่านมรณภาพ เพราะร่างกายจะแข็ง จัดห่มคลุม จัดท่าได้ยาก แต่นี่ท่านได้ห่มคลุมจีวรเรียบร้อยแล้วค่อยละสังขารไป ซึ่งการละสังขารในท่าสีหไสยาสน์นี้นอกจากหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอแล้ว ยังมีหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อีกองค์หนึ่งที่ได้มรณภาพไปในอิริยาบถเดียวกัน อีกทั้งท่านทั้งสองยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปานเช่นเดียวกันอีกด้วย

ติดต่อลงประกาศข้อมูลพระเครื่อง

บทความเพิ่มเติม