พระสังฆราชองค์ที่ 12 พ.ศ. 2481-2487
สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวราราม พระนามเดิมว่า แพ พระฉายานาม ติสสเทว ประสูติในรัชกาลที่ 4 วันพุธ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 บิดาชื่อ นุตร์ มารดาชื่อ อ้น เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวม 7 คน คือ 1. นางคล้าม 2. สมเด็จพระสังฆราช (แพ) 3. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่) 4. นางทองคำ พงษ์ปาละ 5. นางทองสุข 6. นายชื่น 7. นายใหญ่
เมื่อพระชนมายุได้ 7 ขวบ ได้ไปศึกษาอักขระสมัยอยู่ที่วัดทองนพคุณ เนื่องจากท่านบิดาเลื่อมใสในสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มาตั้งแต่ท่านยังครองวัดนพคุณ ครั้นชนมายุได้ 13 ปี จึงพาไปถวายเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม มาอยู่วัดราชบูรณะ ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2411 แล้วกลับไปเล่าเรียนอยู่วัดทองนพคุณตามเดิม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร
ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อชนมายุได้ 16 ปี สมเด็จวันรัต (สมบูรณ์) ให้ไปรับมาอยู่กับท่านที่ วัดพระเชตุพน เพราะสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ได้มาอยู่ในวัดนั้นได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เป็นพื้น นอกจากนั้นได้เล่าเรียนกับเสมียนตาสุขบ้าง พระโหราธิบดี (ชุ่ม) บัาง พระอาจารย์โพบ้าง ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรกที่พระที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2419 แต่แปลตกหาได้เป็นเปรียญในปีนั้น
อุปสมบท
เมื่อปีชวด พ.ศ. 2419 อายุครบอุปสมบท แต่สมเด็จพระวันรัตสมบูรณ์อาพาธต้องอยู่ประจำ รักษาพยาบาล จึงมิได้มีโอกาสอุปสมบท และเมื่อสมเด็จพระวันรัตสมบูรณ์ใกล้ถึงมรณภาพนั้น ท่านแนะนำให้ไปอยู่เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตแดง วัดสุทัศน์ แต่เมื่อยังเป็นพระเทพเทวี ครั้นสมเด็จพระวันรัตสมบรูณ์มรณภาพแล้ว จึงไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตแดง แล้วไปอุปสมบทที่วัดเสวตรฉัตรอยู่ใกล้บ้านเดิม เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2422 สมเด็จพระวันรัตแดง เมื่อยังเป็นพระเทพกวีเป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ชุ่ม วัดทองนพคุณ และพระอาจารย์โพ วัดเสวตรฉัตรเป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์กับสมเด็จพระวันรัตแดงต่อมา ในตอนนี้ได้เล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัตแดงเป็นพื้น และได้เรียนกับสมเด็จพระสังฆราชสา ที่วัดราชประดิษฐ์บ้าง
เมื่อสมเด็จพระวันรัตแดงเลื่อนเป็นพระธรรมวโรดม ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระครูใบฎีกา ในถานานุกรมตำแหน่งนั้นแล้วเลื่อนเป็นพระครูมงคลวิลาส และพระครูวินัยธร เมื่อเป็นพระครูวินัยงธรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 2 ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2425 ได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค ต่อมาถึงปีระกา พ.ศ. 2428 เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 3 ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีกประโยคหนึ่ง รวมเป็น 5 ประโยค
ถึงปีฉลู พ.ศ. 2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ์ ถึงปีวอก พ.ศ. 2439 เมื่อวันในรัชกาลแห่งสมเด็จ บรมบพิตรที่ 5 ครบหมื่นวัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม พระราชทาน ตาลปัตรแฉกประดับพลอยและเพิ่มนิตยภัตร ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดให้พระธรรมวโรดม แสง วัดราชบูรณะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ถึงปีจอ พ.ศ.2441 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี มีสำเนาที่ทรงตั้งดังนี้ให้เลื่อนพระศรีสมโพธิ์เป็นพระเทพโพลี ตรีปฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆราม คามวสี สถิตย์ ณ วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิตรยภัตรเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆวิชิต 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระพระวันรัต ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช
โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง ชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นสนองพระองค์ต่อไป
และโดยที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์เทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มีคุณูปการในทางศาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชได้
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้ประกาศสถาปนา สมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดี สงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป
ประกาศมา ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี
แล้วทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกต่อประมุขสงฆ์ มีองค์พระสังฆราชเป็นประธานครั้นถึงสมัยมงคลกาลเฉลิมพระ ชนมพรรษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2482 จึงเป็นพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มีคำประกาศต่อไปนี้
ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
โดยที่เห็นว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเอนกประการ อาทิ เจริญพรรษายุกาลรัตนมหาเถรธรรม สุขุมคัมภีรญาณปรีชาสามารถ ถึงพร้อมด้วยสมณคุณพรหมจริยวัตรศีลสมาจารบริสุทธิ์ ประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิต ประโยชน์อันไพศาลแก่พุทธบริษัทมีคุณสมบัติเป็นเอนกนัย ดังปรากฏเกียรติคุณตามประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เมื่อพุทธศักราช 2472
ต่อมาก็ยิ่งเจริญด้วยอุสาหวิริยาธิคุณสามารถประกอบการศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ได้รับภาระปกครองคณะสงฆ์ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงนอก จังหวัดพระนคร และปลัดคณะแขวงใน จังหวัดพระนคร บริหารคณะสงฆ์ใน การปกครองโดยเรียบร้อยวิวัฒนาการ ทั้งในการศึกษาและพระปริยัติธรรมก็ได้จัดการให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นถาวร ด้วยสุขุมปรีชาญาณ มีนโยบายการบริหารด้วยสันติวิธี เป็นที่นิยมยินดีของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ในมหาเถรสมาคม ก็ปฏิบัติการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี มิบกพร่อง โดยอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกา เป็นที่เคารพ ในมหาเถรสมาคม ประกอบทั้งสมบูรณ์ด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม จึงเป็นที่นิยมชมชื่นทั้งในฐานที่เป็น พระมหาเถระและเป็นประมุขสงฆ์คณะมหานิกาย ด้วยคุณูปการในทางศาสนกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ จึงได้ประกาศสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆมลฑลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481
ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระองค์เป็นพุทธมามกะก็ได้ทรงเป็นพุทธมามกาจารย์ และถวายโอวาท เป็นเครื่องเจริญพระราชศรัทธาประสาทเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบัดนี้จวนมงคลสมัยเฉลิมพระชนพรราษา สมควรสถาปนา สมณฐานันดรศักดิ์ให้เต็มตามราชประเพณีเป็นปรากฏเกียรติยศคุณสืบไป คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงให้เฉลิมพระนามสมเด็จ พระสังฆราช ตามที่จารึกในสุพรรรบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธานธำรง สกลสังฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ อานันทมหาราชพุทธมามกาจารย์ ติสฺสเทวา ภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตตมโศภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคาราว- สถาน วิจิตรปฏิภาณ พัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุมทร บวรสังฆาราม คามวาสี เสด็จสถิตยณวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรามหาวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ ควรทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป คือ
พระครูมหาคณานุสิชฌน์ สังฆอิสริยาลังการ วิจารณโกศล วิมลสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดขวา 1
พระครูจุลคณานุสาสน์ วิจารโณถาศภาคยคุณ สุนทรสังฆมนุคุตติ วิสุทธิสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดซ้าย 1
พระครูธรรมกถาสุนทร 1
พระครูวินัยกรณ์โสภณ 1
พระครูพรหมวิหาร พระครูปริตร 1
พระครูญาณวิสุทธิ์ พระครูปริตร 1
พระครูวินัยธร 1
พระครูธรรมธร 1
พระครูวิมลสรภาณ พระครูคู่สวด 1
พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด 1
พระครูบุลบรรณวัตร 1
พระครูสังฆบริการ 1
พระครูสมุห์ 1
พระครูใบฎีกา 1
ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร เพิ่มอิศริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุ สามเณร ในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลังและอิศริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจง เจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิจิรัฏฐิติวิรุฬหิ ไพบูลย์ในรพะพุทธศาสนา เทอญฯ
ประกาศมา ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2482 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 เวลา 14 นาฬิกา กับ 14 นาที มีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาพร้อมกับยกเสวตรฉัตรแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระสุพรรณบัฎในวันนั้น เวลา 17 นาฬิกา พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ รุ่งขึ้น วันที่ 29 กันยายน เวลา 11 นาฬิกา พระสังฆ์รับพระราชทานฉันอาหารบิณฑบาต แล้วเจาพนักงานตั้งบายศรีและแว่นเดชทียน สมโภชพระสุพรรณบัฎแล้วเป็นเสร็จการ
จำเดิมแต่พระองค์ได้ดำรงดำแหน่งสกลกสังฆปรินายก สืบสนองพระองค์จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธเป็นต้นมา แม้จะทรงพระชราภาพมากแล้วก็ตาม ก็ได้ยังความเจริญร่มเย็นเป็นสุข ให้บังเกิดแก่สงฆมณฑลเป็นเอนกประการ โดยที่ทรงพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีภาพในศาสโนบายวิธี เมื่อทรงเห็นว่าจะไม่สามารถปกครองสงฆมณฑลได้สัมฤทธิผล ได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาตั้งคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินศาสนากิจให้ลุล่วงไป ด้วยความสวัสดีตลอดมา จวบจนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2484 รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ออกใช้เป็นกฏหมาย เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักรให้อนุรูปกัน ในฐานแห่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกในระบอบใหม่นี้ จึงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภาขึ้น และได้เสด็จไปเปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันวิสาขบุรฌมีที่ 29 พฤษภาคม พุทธศักราช 2485 และได้ทรงแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช 2484 โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจให้วัฒนาถาวรสืบไป
บั้นปลายชีวิต
พระองค์ทรงพระประชวรโรคชราระเสาะกระแสะเรื่อยๆ มา แต่เพราะพระทัยของพระองค์เข้มแข็งยิ่งนักประกอบด้วย ได้แพทย์ผู้สามารถถวายการพยาบาล จึงมีพระอาการทรงอยู่ได้ตลอดมา จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราข 2487 ได้เริ่มประชวร เพราะพระโรคเดิมอีก แพทย์ได้ถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ พระอาการโรคได้ทรุดหนักลงทุกวันจนถึงวันที่ 26 เดือนเดียวกัน ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา 3.00 น. ที่ตำหนักวัดสุทัศนเทพวราราม สิริพระชนมายุ 89 โดยมีพระพรรษา 66 ทรงดำรง ตำแหน่งสกลสังฆปรินายกได้ 7 พรรษาได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพและโกศพระลองกุดั่นน้อย ประกับพุ่มเฟื่องเครื่องสูง 5 ชั้น เครื่องประโคมสังข์แตร จ่าปี่ จ่ากลองและ กลองชนะ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำพระศพและรับพระราชทานฉัน 15 วัน ประดิษฐานพระศพ 15 วัน แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทักษิณานุปทานในสัตตวารที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระลองกุดั่นใหญ่และจัดการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการหลวง ณ สุสานหลวงวัดเทพสิรินทราวาส วัน พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488