หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง (นครปฐม)

แชร์บทความ

หลวงพ่อแช่ม อินฺทโชโต หรือ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ท่านเกิดเมื่อ ปี พ.ศ. 2405 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เยาว์วัยได้ศึกษาร่ำเรียนอักขระ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม พระอาจารย์เห็นถึงคุณวิเศษและความใฝ่ใจของหลวงพ่อแช่ม จึงประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านพุทธเวทพร้อมเคล็ดลับต่างๆ ให้โดยไม่ปิดบัง ซึ่งท่านก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างแตกฉาน ชีวิตในวัยหนุ่ม ท่านเป็นคนชอบท่องเที่ยวไปอย่างคึกคะนอง

อุปสมบท

พอมีอายุครบ 20 ปี ตรงกับปี พ.ศ. 2425 ท่านก็ได้อุปสมบท ณ วัดพะเนียงแตก โดยมี พระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในขณะนั้น หลวงพ่อทา เป็นพระเกจิที่เรืองเวทวิทยาคมมากรูปหนึ่ง

หลวงพ่อแช่มบวชแล้ว ได้ติดตามพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งมีชื่อว่า อำเภอพระปฐมเจดีย์ในสมัยก่อน อุปัชฌาย์ของหลวงพ่อแช่มคือ พระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) เป็นเจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองนครปฐมด้วย ท่านเป็นพระนักปฏิบัติเชี่ยวชาญทางสมถกัมมัฏฐาน มีพลังทางจิตกล้าแข็ง ท่านทำเครื่องรางของขลังไว้แจกแก่ลูกศิษย์ลูกหา หลวงพ่อแช่มเมื่อมาอยู่กับหลวงพ่อทาซึ่งเป็นลูกหลานของชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 3 จึงได้ทำทุกอย่างที่จะปรนนิบัติอุปัชฌาย์ ด้วยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะขอเรียนวิชาการทุกอย่าง จากหลวงพ่อทาให้จงได้จึงได้เข้ารับใช้อย่างใกล้ชิด หลวงพ่อแช่มเฝ้าปรนนิบัติวัตรถากอาจารย์อยู่ด้วยการรับใช้และนวดเฟ้นเช่นนี้เป็นเวลานานถึง 3 พรรษา จึงได้ถ่ายทอดคาถาอาคมจากอาจารย์สมความปรารถนา
หลวงพ่อแช่ม จึงได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆไว้มากมาย โดยเฉพาะการเจริญกรรมฐานตามแบบโบราณหลวงพ่อทาพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อแช่ม ท่านสั่งสอนหลวงพ่อแช่มว่า ป่าช้าเป็นป่าชั่วช้า ป่าเลวทราม เพราะเป็นป่าผี ป่าที่มีแต่ซากศพ แต่ถ้าพระไปอยู่ ป่าช้าก็เป็นป่าดี เป็นป่าแก้ว ป่าช้าที่พระอยู่จึงเรียกว่าป่าแก้ว เป็นป่าที่สงบร่มเย็น เพราะเป็นป่าที่แสวงหาธรรมของสาธุชน เป็นป่าที่ปฏิบัติธรรมของลูกพระตถาคต และเป็นป่าบำเพ็ญสมณธรรมของพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อแช่มก็ได้ซึมซับเอาแนวความคิดนี้มาจากพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อแช่ม กับเพื่อนภิกษุได้เดินธุดงค์ไปนมัสการพระแท่นดงรังครั้งนั้น ประมาณ พ.ศ. 2430 ได้ไปไหว้สถานที่ดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธองค์ ถวายที่ถวายพระเพลิงพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมครูแล้วก็เกิดความปิติ ได้ปลงธรรมสังเวชเกิดความสลดใจในธรรมว่าคนมาในโลกนี้แล้ว ไม่ว่าไพร่ ผู้ดี มั่งมี หรือเข็ญใจ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ผู้มีศักดานุภาพ เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งหลาย ก็ล้วนแต่ต้องพ่ายแพ้แก่พระยามัจจุราช

ท่านได้ออกธุดงค์ไปนมัสการ พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง พระพุทธบาทสระบุรี จนกระทั่งได้ไปนมัสการ เจดีย์ชะเวดากอง ที่ประเทศพม่า และได้ศึกษาวิชาความรู้เพิ่มเติมจาก พวกชาวไทยใหญ่ พม่า กะเหรี่ยง และมอญ เป็นต้น

หลวงพ่อแช่ม เดินทางกลับผ่านทางจังหวัดกาญจนบุรี เข้าสุพรรณบุรี แล้ววกกลับมาทางนครปฐม โดยการเดินทางเท้าทั้งสิ้นไม่ได้ขึ้นรถลงเรืออาศัยเกวียนหรือช้างม้าแต่อย่างใด เมื่อถึงวัดพะเนียงแตกแล้ว หลวงพ่อแช่มก็เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อทา หลวงพ่อวัดพะเนียงแตก หรือหลวงพ่อเสือ หลวงพ่อท่านไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่เปรยๆว่า “เกิดเป็นคนก็ยาก บวชเป็นพระก็ยาก บวชแล้วได้เดินธุดงค์ก็ยาก ไม่เสียทีที่เกิดหรอกชาตินี้ พระศาสนาของเราได้พระภิกษุอย่างคุณ พระศาสนาไม่ตกอับหรอก” ว่าเท่านั้นท่านก็นิ่งไม่พูดอะไรอีก หลวงพ่อแช่มจึงนมัสการว่า กลับมาครั้งนี้ก็คิดจะกราบลาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง เพื่ออยู่ใกล้ญาติโยมทางโน้น หลวงพ่อทากล่าวว่า ไปอยู่วัดตาก้องน่ะต้องระวังให้ดีที่นั่นเขาเป็นพระบ้านทั้งนั้นเราเป็นพระป่า

เหตุการณ์ไม่คาดคิด

เมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง หลวงพ่อแช่มถูกพระภิกษุบางพวกเพ่งโทษคอยจับผิดท่าน นินทาว่าร้ายว่าเป็นพระภิกษุพิเรนทร์ไม่เหมือนพระชาวบ้าน ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในวัด “รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์ อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุ” จนในที่สุดก็มีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษหลวงพ่อแช่มถึงเจ้าคณะจังหวัด

การสอบสวนหลวงพ่อแช่มนั้น มีเจ้าคณะจังหวัดพร้อมด้วยเจ้าคณะตำบล และคณะผู้ติดตาม เดินทางมาสอบสวนถึงวัดตาก้อง เมื่อมาถึงกุฏิที่หลวงพ่อแช่มปลูกเป็นศาลา พบหลวงพ่อแช่มนุ่งสบงผืนเดียวนั่งขัดสมาธิ คอยอยู่บนพื้นกระดานแผ่นใหญ่ที่ปูอยู่กับพื้นดินมีไม้ขอนวางรอง ไร้เฟอร์นิเจอร์ใดๆทั้งสิ้น กระทั่งเสื่อปูรองก็ไม่มี

ต่อข้อกล่าวหาว่า “รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์” เจ้าคณะจังหวัดได้ถามต่อว่า “เป็นหมอรักษาไข้จริงหรือเปล่า”

หลวงพ่อแช่มตอบว่า “ผมไม่เคยเป็นหมอรักษาไข้ใคร นอกจากมีคนป่วย ญาติเขามาหาถามอาการดู เห็นว่าพอรักษาได้ก็ให้คนไปซื้อยามา ผมก็เอาลงหม้อ เสกให้เอาไปต้มกินเท่านั้น”

เจ้าคณะจังหวัดถามต่อว่า “แล้วหายไหมเล่า”

หลวงพ่อแช่มตอบว่า “ก็เห็นบอกว่าหายดี”

“เป็นหน้าที่ของสงฆ์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าเคยเป็นหมอรักษาใครบ้างหรือเปล่า” เจ้าคณะจังหวัดได้ถามหลวงพ่อแช่มต่อ

คำตอบจากหลวงพ่อแช่ม คือ “การเป็นหมอรักษาไข้ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์เป็นหน้าที่ของหมอ แต่ถ้าเขาหมดทางรักษาเรามียาอยู่ ควรจะสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ให้เขาพ้นทุกข์ ผมก็ต้องสงเคราะห์ไปจะผิดจะถูกอย่างไรผมก็ยอม ผมไม่ใช่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผมจะเป็นได้ก็พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกถ้าผมเห็นว่าควรจะสละศีลเพื่อช่วยชีวิตเขา ผมก็จะสละ ถ้าผมคิดว่าจะสละวินัยเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์ ผมก็จะสละ ถ้าผมพบผู้หญิงกำลังจะจมน้ำตายผมก็จะกระโดดน้ำลงช่วยอุ้มเขาขึ้นมาให้รอดตาย ถึงผมจะถูกปรับอาบัติว่าสังฆาทิเสส ผมก็จะยอม ผมจะไม่รักษาศีลบริสุทธิ์ยอมให้คนจมน้ำตายไปต่อหน้า ถ้าผมทำเช่นนั้นผมก็ไม่รู้ว่าผมบวชเพื่ออะไร”

ครั้นแล้วการสอบสวนก็เป็นอันเสร็จสิ้น เจ้าคณะจังหวัดได้บอกว่า “คุณไม่มีความผิดอะไร” จากนั้นก็ได้สนทนากับหลวงพ่อแช่มถึงการเดินธุดงค์และคาถาอาคมต่างๆ

ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ถามว่า “ไหนคุณว่าคุณมีดีกว่าพระภิกษุอื่น คุณมีดีกว่าอย่างไร”

หลวงพ่อแช่ม ก็ว่า “อิติปิโสแปดบทให้ฟัง แล้วก็ว่าอิติปิโสถอยหลังให้ฟัง” จบแล้วก็บอกว่าพระองค์อื่นก็ว่าอิติปิโสเดินหน้าได้อย่างเดียว แต่ผมนั้นเชี่ยวชาญขนาดว่า “ทะแยงก็ได้ ว่าถอยหลังก็ได้ จะไม่ดีกว่าพระอื่นได้อย่างไร”
การสอบสวนของเจ้าคณะจังหวัดครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้หลวงพ่อแช่มกลับมีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้น

บั้นปลายชีวิต

หลวงพ่อแช่ม บวชมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนอายุ 85 ปีเศษ เป็นเวลานานถึง 65 พรรษา ที่ได้ใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเอง แก่ประชาชน แก่พระพุทธศาสนา แก่ผู้คนผู้มีทุกข์มามากมาย
หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.2490 สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา

ติดต่อลงประกาศข้อมูลพระเครื่อง

บทความเพิ่มเติม