หลวงพ่อจง พุทฺธสโร ท่านได้ถือกำเนิดที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ของราชวงศ์จักรี ท่านเกิดในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2415
นามเดิมของท่านชื่อว่า “จง” ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล เลยยังไม่มีนานสกุลพ่วงท้ายชื่อ เป็นบุตรชายคนโตของ “นายยอด” และ “นางขลิบ” ที่มีอาชีพเป็นชาวนา หลวงพ่อจงท่านมีน้องร่วมอุทรเดียวกันอีก 2 คน คือ “นายนิล” หรือ “พระอธิการนิล” และ “นางปลิก”
ชีวิตวัยเยาว์
หลวงพ่อจงท่านอยู่ในฐานะเฉกเช่นผู้อาภัพอับโชค อุดมไปด้วยทุกขโรคา มากกว่าความสุขร่าเริงสดใสเหมือนกับเด็กในวัยเดียวกันทั่วไป หลวงพ่อจงท่านถูกโรคพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็ก จึงทำให้มีรูปร่างค่อนข้างจะผอมโซ ไม่แข็งแรง หน้าตาซีดเซียว แถมยังมีอุปนิสัยค่อนข้างขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพังคนเดียว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร ถามมาคำก็ตอบกลับไปคำ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นได้กลายเป็นที่น่าเวทนาสำหรับผู้พบเห็นและรู้จักมักคุ้นก็คือหลวงพ่อจงในวัยเยาว์ท่านมีอาการหูอื้อจนเกือบหนวกรับฟังเสียงต่าง ๆ ไม่ค่อยชัดเจน นัยน์ตาก็ฝ้าฟางมองอะไรแทบไม่เห็น
แต่ด้านของจิตใจท่านกลับเพียรใฝ่หารสพระธรรม ชอบทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะอยู่เป็นเนืองนิจ โดยให้บิดามารดาหรือญาติพี่น้องพอไปยังวัดหน้าต่างใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก
อุปสมบท
หลวงพ่อจงอายุได้ 12 ปี บิดามารดาของท่านเห็นถึงอุปนิสัยของท่านว่ามีความชอบวัด ติดวัด จึงนำเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน และก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเมื่อท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รุมเร้ามานานแรมปี ไม่ว่าจะเป็นโรคพยาธิ ที่ทำให้เกิดอาการผอมโซ เซื่องซึม หูอื้อ นัยน์ตาฝ้าฟาง ก็ได้หายไปจนหมดสิ้น ท่านกลับกลายเป็นผู้ที่มีสุขภาพพลานามัยดีมาก และท่านก็มีความสุขในสมณเพศนั้น ดุจดั่งเป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า หลวงพ่อจงจะต้องครองเพศอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนชีวิตจะหาไม่
ในปี พ.ศ. 2435 เมื่ออายุครบบวช โยมบิดามารดาจึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างใน โดยมี หลวงพ่อสุ่น เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โพธิ วัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสโรภิกขุ”
หลวงพ่อจงก็ได้พนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดหน้าต่างใน ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมด้วยฝึกฝนในอักษรสมัยทั้งขอมและไทย จากพระอาจารย์เจ้าอาวาสจนมีความรู้ปราดเปรื่องชำนาญ จนใคร ๆ ก็อดสงสัยมิได้ว่า ทำไมหลวงพ่อจง มิยังงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญาดุจดั่งที่มีบุคลิกอันอ่อนแอ ส่อสำแดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบ หรือ อับ
หลวงพ่อจง พลิกความเข้าใจของโยมและวงศ์ญาติให้เป็นการกลับตาลปัตรไปไกลกว่านั้น โดยนอกจากศึกษารู้แจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือจนแตกฉานแล้ว มิช้ามินาน ยังสามารถรับการถ่ายทอดวิทยาการในแขนงว่าด้วยคุณเวทย์วิทยาคมขลัง จากพระอาจารย์โพธิ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไพศาลในยุคนั้น มาได้ขนาดว่าหมดสิ้นพุงความรู้ของพระอาจารย์ และก็มิได้หยุดยั้งแค่นั้น หลวงพ่อจงยังได้พากเพียรแสวงหาความรู้ไม่ขาด รู้ว่าที่ไหนมีพระอาจารย์ดี มีผู้เคารพนับถือมาก ท่านเสาะแสวงหาหนทางนำตนไปนมัสการน้อมยอมเป็นสานุศิษย์ ศึกษาวิชาอย่างไม่มีท้อถอยไม่มีกลัวความลำบาก ในการต้องบุกป่าฝ่าหนามข้ามทุ่งไกล ๆ ซึ่งสมัยนั้นไปไหนต้องใช้พาหนะเท้าย่ำกันเป็นหลัก
ต่อมาจึงได้ไปศึกษาเรียนวิชาปฏิบัติกรรมฐานจากพระอาจารย์ หลวงพ่อปั้น เกจิอาจารย์ของวัดพิกุล ซึ่งท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์โด่งดังมากจนสมญาว่า เป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่รูปหนึ่งหมั่นศึกษาและพากเพียรด้วยอิทธิบาทอันแก่กล้าช้านาน
จนในที่สุด “ทั่ง” ถูกฝนลงเป็นเข็มสำเร็จ กาลต่อมา หลวงพ่อจงจึงได้รับขนานนามเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเจริญกรรมฐาน ประเภท อสุภปฏิกูล โดยที่ท่านมีบุคลิกภาพเปี่ยมพร้อมสมบูรณ์ สำหรับการปฏิบัติเจริญภาวนา เหมาะสมกับสภาวะนั้นได้ ด้วยปราศจากอารมณ์หวาดหวั่น หวาดไหว เป็นต้น เปี่ยมพร้อมด้วยมีองค์คุณอันเหมาะสมที่เรียกว่า สัปปายะ (สี่) และมี องค์คุณอันเป็นที่ตั้งของความเพียร (ห้า) ที่เรียกว่า ปธานิยังคะ
บั้นปลายชีวิต
หลวงพ่อจง ท่านได้มรณะภาพในปีพุทธศักราช 2507 หรือในปีคริสตศักราช 1964 ศิริอายุท่านได้ อายุ 92 ปี พรรษาที่ 71