หลวงพ่อเนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี เป็นชื่อที่ชาวสุพรรณทั้งที่อยู่ในวงการพระเครื่องและไม่ใช่ ต่างรู้จักท่านดี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป ลือกระฉ่อนในด้านปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าระทึกใจ
หลวงพ่อเนียมมีอายุยืนยาวถึง 4 รัชกาล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2372 ในรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านซ่อง ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มารดาเป็นชาวป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ธรรมเนียมไทยฝ่ายชายที่เข้าสู่งานมงคลสมรสแล้วจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ดังนั้นบิดาของหลวงพ่อเนียมจึงมาอยู่กับมารดาของท่านที่บ้านป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นชาติภูมิของท่าน หลวงพ่อเนียม มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันหลายคน ตัวท่านเป็นบุตรคนที่สอง ส่วนน้อง ๆ มีอีกกี่คนไม่สามารถสืบทราบได้
การศึกษา
การศึกษาสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนเหมือนปัจจุบัน หลวงพ่อเนียมจึงมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัดเรียนอักขระขอมและภาษาบาลีจากวัดข้างเคียงที่ให้กำเนิดท่าน เมื่ออายุครบบวชทำการอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา วัดใกล้บ้านท่านคาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์ หรือไม่ก็วัดตะค่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2392-2393
อุปสมบท
เมื่ออุปสมบทถือเพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี สืบทราบไม่แน่ชัดมีบางท่านว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บางท่านว่าอยู่วัดโพธิ์, วัดระฆัง,วัดทองธรรมชาติ ธนบุรี ไม่เป็นที่ยุติ สรุปความว่าท่านไปอยู่วัดในจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งอาจจะอยู่วัดในจังหวัดที่กล่าวมาแล้วก็ได้
หลวงปู่เนียมได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดของพระมหาเกจิ-เถราจารย์ของเมืองสุพรรณ และสุดยอดของภาคตะวันตก เล่าขานกันสืบมาว่า หลวงปู่เนียมเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระและทรงวิทยาคม สำเร็จวาโยกสิณ มีอภิญญาแก่กล้า หยั่งรู้เหตุการณ์ทั้งในอดีตและอนาคต ที่หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จังหวัดสุพรรณบุรี พระอาจารย์ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระอาจารย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำแห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ดั้นด้นมาขอฝากตัวเป็นศิษย์
ปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เนียม
มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เนียมมากมาย ประวัติและปาฏิหาริย์ของท่านได้ถูกเขียนลงในนิตยสารพระเครื่องดังๆหลายฉบับ พระเครื่องที่ท่านทำขึ้นมาเพื่อแจกสานุศิษย์มีหลายพิมพ์ด้วยกัน ได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์พระคง พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พุทธลีลา พิมพ์ขุนแผน และที่ดังมากก็คือพิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลม พระของหลวงปู่ทุกพิมพ์เป็นเนื้อชินตะกั่วมีรูปทรงไม่สวยนัก แต่มีพุทธคุณสูงยิ่งโดยเฉพาะเรื่องคงกระพัน ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของคนรุ่นลูก หลาน เหลนของสานุศิษย์แท้ๆ ของท่าน ในพื้นที่บางปลาม้า ซึ่งเห็นห้อยคอเดี่ยวๆ และไม่ค่อยจะมีใครยอมปล่อยให้หลุดจากคอ พระของหลวงปู่จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดพระ ส่วนที่เล็ดลอดออกมาบ้างก็มีสนนราคาเป็นเรือนหมื่นทุกพิมพ์
นอกจากพระเครื่องแล้ว ที่กล่าวตรงกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักคือน้ำมนต์ของท่านและการรักษาพิษงูและหมาบ้า
บั้นปลายชีวิต
หลวงพ่อเนียม มรณภาพเมื่ออายุ 80 ปี โดยมรณภาพในลักษณะเหมือนพระปางไสยาสน์ นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของเมืองไทยที่มีการมรณภาพเช่นนี้ ตรงกับ พ.ศ.2452 หลังจากการฌาปนกิจเสร็จแล้วชาวบ้านแย่งกันเก็บอัฐิของท่านเอาไปไว้บูชากันอย่างอลหม่าน