วัดโคนอน แขวง บางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นวัดที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติชีวิตของ 2 พระเกจิอาจารย์ดัง คือ หลวงปู่รอด และหลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง บางขุนเทียน กรุงเทพฯ
เมื่อครั้งที่หลวงปู่รอด ถูกถอดสมณศักดิ์ “พระภาวนาโกศล” เพราะไม่ยอมถวายอดิเรกรัชกาลที่ 4 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดโคนอน พร้อมกับหลวงปู่เอี่ยมผู้เป็นศิษย์เอก และเมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมก็เป็นเจ้าอาวาส “วัดโคนอน” รูปต่อมา
กล่าวสำหรับอัตโนประวัติของหลวงปู่รอด อาจจะไม่ค่อยชัดเจน เพราะท่านเป็นเกจิอาจารย์ยุคเก่า แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ท่านมีภูมิลำเนาอยู่คลองบางขวาง ตำบลคุ้งถ่าน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น) เดิมท่านเป็นฐานานุกรมในพระนิโรธรังสี เจ้าอาวาสวัดหนัง บางขุนเทียน
ความเชี่ยวชาญ
หลวงปู่รอดเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อพระนิโรธรังสีมรณภาพ ได้รักษาการอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางนอง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระภาวนาโกศลเถร”
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชทานกฐินวัดนางนอง หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรก ทางราชการจึงปลดออกจากตำแหน่ง และริบสมณศักดิ์คืน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความคิดที่ท่านไม่เห็นด้วย ในการที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นมา ทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรเป็น “พระราชาคณะ” อีกต่อไป เมื่อหลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์แล้ว ก็ออกจากวัดนางนอง กลับไปยังวัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ “วัดโคนอน” และได้มรณภาพที่วัดนั้น
หลวงปู่รอด ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ทรงวิทยาคม พุทธคุณขลัง ได้ถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ให้หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ประวัติกล่าวถึงด้านปาฏิหาริย์เป็นที่เล่าขานกันมาก เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้น เช่น ความสามารถในเรื่องการถอนคุณไสย การเดินธุดงค์ตามป่าเขา ได้ผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะโขลงช้างที่ดุร้าย แต่สัตว์เหล่านั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้ หรือบางครั้งก็ถูกลองดีจากพวกที่มีวิชาอาคมต่างๆ เช่น พวกกะเหรี่ยง เขมรก็สามารถสยบได้หมด
อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงคือ หลวงปู่รอด เดินบนใบบัว เมื่อครั้งที่ได้ออกเดินธุดงค์พร้อมด้วยสามเณรลูกศิษย์รูปหนึ่ง พอถึงห้วยกระบอก จังหวัดกาญจนบุรี ด้านหน้าที่จะเดินต่อไปเป็นบึงกว้าง ด้านข้างเป็นเขาสูงชันลำบากต่อการปีนป่ายข้ามไป หลวงปู่รอดจึงหันมาถามสามเณรว่า จะข้ามน้ำกลางบึงไปด้วยกันไหม สามเณรตอบว่า ถ้าหลวงปู่ข้ามไปได้ ผมก็จะข้ามไปด้วย หลังจากนั้นหลวงปู่รอดก็เจริญอาโปกสิณครู่หนึ่ง แล้วจึงก้าวไปบนใบบัวอย่างช้าๆ จนถึงฝั่ง
ส่วนสามเณรก็เดินตามหลวงปู่ไปทุกฝีก้าว สุดท้ายไม่เหยียบตามท่าน จึงตกไปในน้ำ หลวงปู่รอดจึงกล่าวกับสามเณรว่า “เห็นไหม กำชับไว้แล้วยังพลาดจนได้ ถ้าเป็นกลางบึงอาจจมน้ำได้ การทำเช่นนี้ต้องมีสมาธิจิตใจแน่วแน่” นอกจากนี้ยังมีเรื่องปาฏิหาริย์ของหลวงปู่รอดอีกมากมายหลายเรื่อง
บั้นปลายชีวิต
ในขณะนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านบวชได้ 16 พรรษา ในฐานะศิษย์ผู้ใกล้ชิด จึงได้ย้ายจากวัดนางนอง วรวิหาร ติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดโคนอน สำนักใหม่อย่างไม่ลดละ แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ และน้ำใจอันประเสริฐต่อผู้เป็นพระอาจารย์ แม้ในยามถูกราชภัยถูกถอดสมณศักดิ์ลงเป็นขรัวตาธรรมดา ต้องตกทุกข์ได้ยากก็ไม่ยอมตีตัวออกห่าง ยังติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิดนับว่าเป็นคุณธรรมที่ปรากฏเล่าขานสรรเสริญกันมาจนทุกวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลวงปู่รอดจะประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาการนานาประการให้กับหลวงปู่เอี่ยมจนสิ้นภูมิความรู้ที่มี อย่างไรก็ตามหลวงปู่เอี่ยมมักจะพูดถึงและย้ำอยู่เสมอว่า “ท่านเก่งสู้อาจารย์ไม่ได้ มีวิชาอีกหลายอย่างที่ท่านศึกษาไม่ถึง” ต่อมาหลวงปู่รอดท่านได้สร้าง วัดอ่างแก้ว ภาษีเจริญ ขึ้นมา ครั้นเมื่อหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองวัดเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนสืบแทนต่อมาในระยะหนึ่ง