สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

แชร์บทความ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม โต นามฉายาว่า พรหมรังสี เกิดในรัชกาลที่ 1 ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 มารดาชื่อ ละมุด (บางคนบอกว่าชื่อ เกศ) เดิมเป็นชาวตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (อำเภอเมือง) จังหวัดอุตรดิตถ์ บิดาไม่ปรากฏชื่อ (บางตำราบอกว่าบิดาคือ ร.1 บางตำราบอกว่า ร.2)

ขณะที่ท่านเป็นทารกนั้น ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านยืนนั่งได้ ครอบครัวจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร กล่าวกันว่า ขณะที่ท่านวัยเยาว์นั้น ท่านได้ศึกษาอักขรสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร ครั้นอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2342) ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายมาอยู่วัดระฆังเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่บัดนั้น

อุปสมบท

เมื่อถึงวัยพอสมควร ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จีงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า “พฺรหฺมรํสี” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุโตรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

จริยาวัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณและเกียรติคุณของพระภิกษุโตแต่พระภิกษุโตไม่ยอมรับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าท่านมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใดๆทั้งสิ้น อนึ่ง แม้พระภิกษุโตได้ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระภิกษุชั้นเปรียญเช่นกัน

กล่าวกันว่า พระภิกษุโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระภิกษุโตอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของพระภิกษุโต ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

สมณศักดิ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปรานพระภิกษุโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระภิกษุโตเป็นครั้งแรก โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระภิกษุโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม “พระเทพกวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม “สมเด็จพระพุฒาจารย์” มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ”

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า “ขรัวโต”

บั้นปลายชีวิต

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

ติดต่อลงประกาศข้อมูลพระเครื่อง

บทความเพิ่มเติม