หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตามประวัติกล่าวเอาไว้ว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นชาวเวียงจันทร์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ราชบุรี แต่บางกระแสก็กล่าวว่า บรรพบุรุษของท่านมีเชื้อสายเป็นชาวมอญ
ท่านถือกำเนิด เมื่อปี พ.ศ.2366 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออายุได้ 6 ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์วัดอยู่วัดโพธาราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรขอม และอบรมบ่มนิสัยตามประเพณีไทยแต่โบราณเมื่ออายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธารามโดยมีหลวงพ่อทาน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น จนกระทั่งมีอายุครบบวชจึงได้อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2386 ที่วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) ในอดีต เคยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและพระกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาก สมัยนั้นหากใครได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักแห่งนี้แล้วถือว่าไม่ธรรมดา แม้ลาสิกขาบทออกไปก็จะได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นหน้าตาแก่วงศ์ตระกูล ที่มีชื่อเสียงและได้รับการเคารพนับถือจากบุคคลโดยทั่วไป
อุปสมบท
ต่อมาอายุครบบวช พ.ศ.2386 ท่านเจ้าอาวาสได้ร่วมกับบิดามารดา โยมญาติทั้งหลาย พาท่านไปทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดฆ้อง (ปัจจุบันเรียกวัดบ้านฆ้อง) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีหลวงพ่อทาน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทา สมัยยังเป็นพระหนุ่มๆ ท่านศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตลอดถึงบาลีไวยากรณ์มากขึ้น ปรากฏว่า มีความแตกฉานมากและได้ข้อคิดที่ต้องนำมาอบรม สั่งสอนศิษย์ในกาลต่อมาดังนี้คือ
1. ท่านมีสติเป็นเพื่อน
2. ท่านมีขันติเป็นเครื่องป้องกันตัว
3. ท่านมีความพากเพียรเป็นพาหนะ
4. ท่านมีปัญญาเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต
5. ท่านมีวิชาเป็นทุนของผู้นำ
6. ท่านมีความดีเป็นเครื่องประดับ
7. ท่านมีศัตรู (กิเลสภายใน) เป็นครูสอน
8. ท่านเป็นผู้ชนะใจของท่านเอง
หลวงพ่อทา มีความรอบรู้ในด้านคันถธุระศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นครูสอนศิษย์ให้เกิดความรู้ในหลักธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ กิตติคุณของท่านได้แผ่ออกไปไกล เช่น เมืองราชบุรี, เมืองเพชรบุรี, เมืองกาญจนบุรี, เมืองนครปฐม รวมไปถึงจังหวัดชัยนาท (ซึ่งสังเกตได้ว่าท่านเป็นเพื่อสหธรรมมิกกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท) รวมไปถึง เป็นที่เคารพศรัทธาของเจ้านายชั้นสูงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
หลวงพ่อทา เมื่อบวชแล้วชอบเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับหลวงพ่อคำ (พระน้องชาย) มายังจังหวัดนครปฐม โดยหลวงพ่อคำได้ปักกรดลงที่วัดหนองเสือ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ส่วนหลวงพ่อทาท่านได้ธุดงค์เลยมาปักกรดลงที่วัดพะเนียงแตก ซึ่งเป็นวัดร้างเหมือนกัน (ประมาณ พ.ศ.2390) วัดพะเนียงแตกตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปประมาณ 5-6 กิโลเมตร สภาพบริเวณวัดเป็นทุ่งนา ป่าละเมาะอยู่ทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า วัดพะเนียงแตก เดิมทีมิใช่ชื่อวัดพะเนียงแตก แต่ชื่อวัดปทุมคงคาราม สาเหตุที่ชาวบ้าน เรียกว่าวัดพะเนียงแตก เพราะหลวงพ่อทาเมื่อมาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ท่านชอบเล่นพุไฟพะเนียง มักจะเล่นในเวลาที่มีงานเทศกาล งานประจำปีของวัด มีอยู่ปีหนึ่ง ท่านเอามือไปปิดปากพุ เป็นเหตุให้พุไม่สามารถออกจากปากพุได้ เมื่อร้อนมากเข้าก็เลยระเบิด และถูกท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
บั้นปลายชีวิต
หลวงพ่อทามรณภาพเมื่อปี 2463 สิริรวมอายุ 84 ปี เหรียญหล่อรุ่นแรกตามประวัติ ไม่ได้สร้างที่วัดพะเนียงแตกแต่หลวงพ่อทา หล่อสร้างขึ้นที่วัดบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อทาไปช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์หลวงพ่อแช่ม เจ้าวาสวัดบางหลวง ในขณะนั้นเป็นศิษย์ของหลวงพ่อทา และหลวงพ่อทาดูแลการก่อสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จเรียบร้อย ในงานผูกพัทธสีมาปี 2455 ท่านจึงได้สร้างเหรียญหล่อขึ้น เพื่อแจกบรรดาผู้มาร่วมทำบุญฝังลูกนิมิต