พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) ท่านเป็นชาวสมุทรสงคราม ถือกำเนิดในสกุล รัตนคอน ณ บ้านใกล้คลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม มีนายลอย และนางทับ เป็นบิดามารดา เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2430 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน รวม 2 ท่านโดยท่านเป็นคนโต คือ
1. พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ)
2. นายเฉื่อย รัตนคอน (ถึงแก่กรรมไปแล้ว)
ฉายแววแต่เยาว์วัย
ประกายแห่งสติปัญญา และลักษณะแห่งความเป็นผู้นำของท่านได้ฉายแววมาแต่เยาว์วัย ดังเป็นที่ประจักษ์แก่บิดา มารดา และญาติๆว่า ท่านเป็นผู้มีความเข้มแข็ง ว่องไวประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้แยกแยะผิดชอบ ชั่วดี มิเคยสักครั้ง ที่จะนำความหนักใจให้กับบิดามารดา ชอบที่จะติดตามบิดามารดาไปวัดอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความกตัญญู มีความขยัน มานะอดทน มีน้ำใจเสียสละ มีวาจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน จึงเป็นที่รักยิ่งของบิดามารดา หลายครั้งท่านมักแอบไปวัดเพียงลำพัง เพื่อฟังการสวดมนต์ของพระภิกษุ-สามเณร จนถึงกับสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำในบางบทบางตอน ถึงแม้ท่านจะเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่ม ท่านก็หาได้มีจิตใจฝักใฝ่สตรีเพศดุจคนรุ่นเดียวกัน จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายแห่งการดำเนินสู่มรรคาแห่งการตัดวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง
การศึกษาเบื้องต้นในปฐมวัย
เมื่อครั้งเยาว์วัย ทั้งสองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้น อยู่ที่วัดเกาะแก้ว ปากคลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ครั้นต่อมาบิดามารดาได้เสียชีวิตไปหมด พระภิกษุแก้ว (ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงตาแก้วโม่ง) ซึ่งเป็นญาติกับท่าน ได้จำพรรษาอยู่กับพระอุดรคณารักษ์ ที่วัดเชตุพนฯ ได้นำท่านมาฝากไว้กับพระอธิการสุข (เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี) มาแต่เพียงหลวงปู่โต๊ะคนเดียว ส่วนนายเฉื่อยนั้นคงอยู่ที่วัดเกาะแก้วตามเดิม พระอธิการสุขกับพระภิกษุแก้วนั้นท่านทั้งสองเป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมและเคารพนับถือกันมาก ในระยะที่นำมาฝากไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลีนั้น อายุของท่านขณะนั้นได้ 13 ปีเศษ
สู่ความเป็นเหล่ากอของสมณะ
ครั้นเมื่อท่านมีอายุย่างเข้า 17 ปี ก็ได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อในปี พ.ศ. 2477 โดยมีพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียว พระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลี จึงได้อุปการะท่านต่อมา ซึ่งเมื่อท่านได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ท่านก็มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องเรียนพระสูตรต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและว่องไว มีความประพฤติไม่เป็นที่หนักใจแก่หมู่คณะ สนใจในการเจริญสมาธิกรรมฐานอย่างมุ่งมั่น ความในข้อนี้พระอาจารย์พรหม ผู้ซึ่งอบรมสอนสมาธิกรรมฐานให้กับท่านในสมัยนั้น ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า แทบทุกคืนจะเห็นสามเณรโต๊ะหลบไปนั่งกรรมฐานเพียงลำพังในโบสถ์ บางครั้งก็เห็นไปเดินจงกรมอยู่ในป่าริมคลองบางหลวงเพียงลำพัง พระอาจารย์พรหมยังได้เล่าอีกว่า สามเณรโต๊ะมักชอบเก็บตัวอยู่เงียบๆ พูดน้อย แต่ช่างซักถามในข้อธรรมต่างๆ
บั้นปลายชีวิต
พระราชสังวราภิมณฑ์ อยู่ในสมณเพศมาตั้งแต่อายุได้ 17 ปี ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีความรู้แตกฉานลึกซึ้ง และถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตอันยาวนานถึง 94 ปีของท่าน เป็นรัตตัญญูผู้รู้กาลนาน เป็นครูของสาธุชนทุกหมู่เหล่า เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลทุกเพศวัย ทุกชาติชั้น นับแต่สามัญบุคคลจนถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้อายุพรรษาจะมากเพียงใด ท่านก็มิได้ขัดศรัทธาของผู้ที่อาราธนาไปในการบุญกุศลต่างๆ มีการไปนั่งเจริญสมาธิภาวนาอำนวยสิริมงคล เป็นต้น จึงในระยะหลังๆ นี้ทำให้สังขารร่างกายท่านต้องตรากตรำมากเกินไป และเกิดอาพาธขึ้นบ่อยๆ แม้จะได้รับการเยียวยารักษาและดูแลพยาบาลอย่างดีเพียงใด กายสังขารของท่านก็ทนอยู่ไม่ไหว ท่านอาพาธครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2524 หลังจากกลับจากถ้ำสิงโตทอง มีอาการอ่อนเพลียลงตามลำดับ ก่อนมรณภาพ 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย แต่ยังพอฉันได้บ้าง นายแพทย์ต้องให้น้ำเกลือทุกวัน อาหารนั้นถวายข้าวต้มกับรังนกตุ๋น ทุกเช้าราว 07.00 น. ถึงวันที่ 5 มีนาคม เวลาเช้าศิษย์ผู้พยาบาลก็ถวายข้าวต้มกับรังนกอีก คราวนี้สังเกตเห็นว่าแขนข้างขวาท่านบวม จึงกราบเรียนกับท่านว่า “แขนหลวงปู่บวมมาก” ท่านก็พยักหน้ารับคำแล้วฉันและหลับตาพักต่อไป โดยให้ออกซิเจนช่วยการหายใจตลอด เวลา 09.00 น. ท่านอ่อนแรงลงอีก และพอถึงเวลา 09.55 น. ท่านก็สิ้นลมด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ณ กุฏิสายหยุด นับอายุได้ 93 ปี 10 เดือน กับ 22 วัน
ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจา เครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระราชสังวราภิมณฑ์ ตลอดจนศิษยานุศิษย์ ทุกคนหาที่สุดมิได้